วันอาทิตย์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

การสมัครบล็อก ไม่ยาก

การสมัครบล็อก ไม่ยาก
วันนี้ มีบทความแนะนำการเขียนบล็อก เหมะสำหรับวัยรุ่น ซึ่งจะมีประโยชน์สำหรับการเขียนบทความ เรื่องสั้น หรือนวนิยาย ตามใจฉัน และมีโอกาสได้รับการพิจารณาลงตีพิมพ์ตามสำนักพิมพ์ต่างๆ อีกด้วย โดยเว็บที่แนะนำคือ เว็บเด็กดีดอทคอม (dek-d.com) ซึ่งได้รับความนิยมจากกลุ่มวันรุ่นเป็นอย่างมาก

วิธีการสมัครเขียนบล็อก ในเว็บเด็กดี
1.เข้าไปใน www.dek-d.com จะมีมุมขวามือคำว่า “เข้าสู่ระบบ” ให้กดเข้าไป

2.ใครที่มีเฟชบุ๊คอยู่แล้วก็กด “เชื่อมต่อกับ facebook




3.ใส่ชื่อนามปากกา จะเป็นภาษาไทย หรือภาษาอังกฤษก็ได้ แต่ต้องไม่มีเว้นวรรค แล้วกดเครื่องหมายถูก ที่หน้าช่อง “ข้าพเจ้าได้อ่านและยอมรับข้อตกลงแล้ว” และกด “ยืนยันการสมัคร”


4.สมัครเสร็จเรียบร้อยแล้ว กดเข้าเว็บ dek-d.com ได้เลย


5.หลังจากนั้นให้เข้าไปในหน้านี้ http://www.dek-d.com/activities/34194/ จะมีอธิบายขั้นตอนการเขียนบทความ นิยาย อย่างละเอียด


ขอให้สนุกกับการเขียนนะครับ
-----------------

บทความโดย...จันทร์หอม กุลเกษ

การเขียนสกู๊ปพิเศษ (ทีวี) ตอน 3

ปั้นสกู๊ปพิเศษให้ดังเปรี้ยง
1.สร้างแบรนด์ (Brand)
2.สร้างความจดจำ (Remember)
3.สร้างความเชี่ยวชาญ (Professional)

1.สร้างแบรนด์ (Brand)
            สินค้าที่มีแบรนด์ หรือยี่ฮ้อ ย่อมมีราคาดีกว่าสินค้าโนเนม สกู๊ปพิเศษก็เหมือนกัน แต่แบรนด์ของสกู๊ปพิเศษคือเอกลักษณ์ที่เราสร้างขึ้นมา จากคาแรคเตอร์ คำพูด การแสดงออก และการนำเสนอ ที่มีความเฉพาะตัว กลายเป็นโลโก้ที่ใครดูก็รู้ว่าเรา อย่าไปกลัวว่าจะเชย เพราะแม้แต่สตีฟ จ๊อบ ยังนำผลแอ๊ปเปิ้ลแหว่งๆ มาเป็นแบรนด์เทคโนโลยีสุดล้ำได้เลย หากเรามั่นใจว่าเจ๋งแล้ว จงทำต่อไปเรื่อยๆ จนคนติดตาเอง (ยกตัวอย่างทีวี 360 องศา)

2.สร้างความจดจำ (Remember)
            เปิดหน้า ต้องให้สะดุดตา สะดุดใจผู้ชม ชวนติดตาม ไม่จำเป็นต้องสมบูรณ์แบบ อาจไม่ใช่การเปิดหน้าที่ดี แต่ได้อารมณ์คนดู ก็ถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว หลังจากนั้นปิดท้าย ควรเรียกความสนใจ เพื่อให้ผู้ประกาศแซวเราให้ได้ เพื่อตอกย้ำให้คนจดจำเราได้มากยิ่งขึ้น

3.สร้างความเชี่ยวชาญ (Professional)
            การได้ทำสกู๊ปในสิ่งที่เรารัก เราชอบอย่างสม่ำเสมอ จะทำให้เรามีความเชี่ยวชาญ มีความเป็นมืออาชีพมากขึ้น สามารถถ่ายทอดเรื่องราวให้ผู้ชมได้อย่างเข้าใจง่าย และยังสามารถนำไปต่อยอดอาชีพนี้ได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น การทำรายการโทรทัศน์เฉพาะทาง การเขียนสกู๊ปลงหนังสือพิมพ์ นิตยสาร หรือการรวมเล่มเป็นหนังสือพ็อกเก็ตบุ๊คขายก็ยังได้ อย่าลืมว่า “รู้อะไร รู้ให้ยิ่งเพียงสิ่งเดียว แต่จงเชี่ยวชาญไว้เถิดจะเกิดผล” (ยกตัวอย่าง รายการไอทีช่อง3)

เข้าใจกระบวนการผลิตไว้บ้างก็ดี
            ท้ายที่สุดของการทำสกู๊ปข่าวแล้ว ก็คือกระบวนการผลิต ที่ผู้สื่อข่าวหรือผู้ดำเนินรายการข่าว ต้องมีความรู้ความเข้าใจไว้บ้างพอสมควร เพื่อให้การเขียนบท การอ่านบท การลงเสียง การเปิดหน้าและปิดหน้า มีความน่าสนใจมากขึ้น เพราะแต่ละกระบวนการจะมีเทคนิคที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับการทำสกู๊ปได้ทั้งนั้น แต่สำหรับนักศึกษาใหม่จะขอแนะนำสิ่งที่ควรรู้ไว้ 2 เรื่องดังนี้
            กระบวนการถ่ายภาพ
            ในอดีต การถ่ายภาพสกู๊ป จะอาศัยเพียงกล้องถ่ายวิดีโออย่างเดียว ทำให้การนำเสนอสกู๊ปเป็นแบบเรียบง่าย แต่ปัจจุบันมีเทคโนโลยีของกล้องถ่ายภาพมากมาย ที่สามารถทำให้การถ่ายภาพได้มุมมองใหม่ๆ ที่น่าสนใจมากยิ่งขึ้น เช่น กล้อง GOPRO สำหรับถ่ายภาพกีฬาแนวแอ๊กซ์ตรีม

และ DRONE สำหรับถ่ายภาพมุมสูง

            กระบวนการตัดต่อวีดีโอ
            ปัจจุบันมีโปรแกรมตัดต่อวีดีโอมากมาย เช่น Adobe Premiere, Edius, Sony vegas ฯลฯ ซึ่งทำหน้าที่ซ้อน CG และสามารถใส่เอฟเฟคต่างๆ ช่วยเพิ่มสีสันให้กับผลงานสกู๊ปของเราได้มาก


เพิ่มเติมสำหรับผู้ที่ต้องการรายงานสด
            ปัจจุบันการรายงานสด นอกจากรายงานผ่านรถส่งสัญญาณดาวเทียม หรือรถ OB แล้ว เรายังสามารถทำได้หลายวิธี โดยการผสมผสานเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาช่วย เช่นการรายงานสดผ่านโทรศัพท์มือถือ ซึ่งมีโปรแกรมที่ใช้ได้มากมาย แต่ที่นิยมคือโปรแกรม Line และ Skype ซึ่งเราควรศึกษาวิธีการเชื่อมต่อโปรแกรมเหล่านี้กับสตูดิโอไว้ ในยามจำเป็นต้องรายงานสถานการณ์สดๆ แต่ยังมีเทคโนโลยีอีกมากมายที่ใช้ได้ ยกตัวอย่างสำนักข่าว CNN ใช้เทคโนโลยี Hologram สุดล้ำรายงานสดได้แล้ว



---------------
บทความโดย...จันทร์หอม กุลเกษ

การเขียนสกู๊ปพิเศษ (ทีวี) ตอน 2

เคล็ดลับการใช้คำ
            การเขียนบทรายงานพิเศษโทรทัศน์ นิยมใช้คำพูดแทนคำเขียน ตัวเลขกลมๆ ชี้ให้คนเห็นภาพ ไม่เยิ่นเย้อเกินไป
ใช้คำพูดแทนคำเขียน เช่น
คำเขียน                                    คำพูด
บิดา มารดา                              พ่อ แม่
พวกเขา                                   พวกเค้า
สามี ภรรยา                              ผัว เมีย
ดาราภาพยนตร์                        ดาราหนัง
โค กระบือ                               วัว ควาย
รถจักรยานยนต์รับจ้าง                        วินมอเตอร์ไซค์
มูลค่า 3,657 ล้านบาท              มูลค่ากว่า 3,600 ล้านบาท
เวลา 04.30 น.                          เวลาตี 4 ครึ่ง
ตัวอย่างจากรายงานพิเศษ นักศึกษารับน้องเสียชีวิต (ข่าว 3 มิติ)


ตำรวจ (เจ้าหน้าที่ตำรวจ), เล่าว่า (กล่าวว่า), พ่อ แม่ (บิดา มารดา), ตั้งแต่เด็ก (ตั้งแต่อายุยังน้อย), เดินทางไปที่นั่น (เดินทางไปที่วัด..), เค้าชี้แจงว่า (เจาชี้แจงว่า), เค้ายังยืนยันว่า (เขายังยืนยันว่า), สภ.หัวหิน (สถานีตำรวจภูธรหัวหิน)

ใช้คำชี้ให้เห็นภาพ เช่น
นี่คือ, สิ่งเหล่านี้, ภาพนี้, บริเวณนี้ และคำชี้เจาะจงอื่นๆ
ตัวอย่างจากรายงานพิเศษ ขอทานพัมยา (ประเด็นเด็ด 7 สี)

            ชายกัมพูชารายนี้, ถูกแก๊งค์ค้ามนุษย์กลุ่มนี้ตัดลิ้น, แต่วันนี้, ห้องเช่านี้

การเปิดหน้า
-                   เปิดหน้าด้วยผู้สื่อข่าว (ย้อนคดีฆ่าหั่นศพครูญี่ปุ่น PPTV)

-                   เปิดหน้าด้วยภาพ (ขอทานพัทยา ประเด็นเด็ด 7 สี)

-                   เปิดหน้าด้วยเสียงแหล่งข่าว (ฆาตกรรมเด็กหญิงบนรถไฟ สปริงนิวส์)

-                   เปิดหน้ากลางรายงาน (ธุรกิจกีฬาในบุรีรัมย์ ข่าว 3 มิติ)


            คำเชื่อมเพื่อความสวยงามของภาษา
ซึ่ง สู่ ด้วย โดย เพราะ อนึ่ง แก่ เพื่อ ทั้งนี้ ทั้งนั้น อีกทั้ง ฯลฯ

ท้ายบท ให้นักศึกษาทำแบบฝึกหัดจากภาพวีดีโอเหตุการณ์เครื่องบินชนตึกเวิร์ลเทรดเซ็นเตอร์ โดยให้มีองค์ประกอบ เปิดหน้า, ใช้คำพูด, ใช้คำชี้ให้เห็นภาพ

---------------------------
บทความโดย...จันทร์หอม กุลเกษ

วันจันทร์ที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2557

การเขียนสกู๊ปพิเศษ (ทีวี) ตอน 1

องค์ประกอบของสกู๊ปพิเศษ (ทีวี)
-                   บท
-                   ภาพ
-                   เสียง
เคล็ดลับการเขียนบท
เคล็ดลับการเขียนบทรายงานพิเศษนั้น เหมือนศิลปะการใช้องค์ประกอบทั้ง 3 อย่าง วางให้เดินเรื่องอย่างสอดคล้องกัน การเขียนบทโดยไม่ดูภาพ ถือว่าเป็นความผิดพลาดอย่างสาหัส เพราะจะทำให้เสียงบรรยายตามบท ไปคนละทิศทางกับภาพ คนดูจึงไม่รู้สึกอินในรายงานพิเศษนั้นๆ เลย ดังนั้นบท ภาพ และเสียงต้องมีความสัมพันธ์กัน
ปัญหาของผู้เริ่มเขียนบทใหม่
-                   หลงประเด็น
-                   เน้นข้อมูล
-                   จูนไม่ครบ
-                   จบไม่ลง
หลงประเด็น
-                   ประเด็นเยอะเกินไป เราอาจจะตั้งประเด็นไว้แล้ว แต่เมื่อไปถึงสถานที่จริง มันมีอะไรมากระทบอารมณ์ความเป็นศิลปิน ทำให้อันนี้ก็อยากได้ อันโน้นก็อยากใส่ อันนั่นก็น่าสนใจ ทำไปทำมา ก็เลยเละตุ้มเป๊ะ เช่น อยากจะทำรายงานประสาทหินพิมายในแง่ประวัติศาสตร์ แต่เมื่อไปแล้ว เห็นเขากำลังนำแมวสีวาท ซึ่งเป็นแมวชื่อดังของพิมายมาประกวด ก็อยากใส่เข้าไป เห็นนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามา ก็อยากทำเรื่องการท่องเที่ยว เห็นว่าจะมีการเสนอเป็นมรดกโลกก็อยากนำเสนอ เห็นเขากำลังบูรณะ ก็อยากแทรกเข้าไป เห็นเขาแสดงแสงสีเสียง ก็อยากโชว์ ได้ยินคนพิมายพูดภาษาโคราช ก็อยากแทรกไปหน่อย กลายเป็นว่าแง่ประวัติศาสตร์เป็นส่วนหนึ่งเล็กๆ ไปเลย
-                   ประเด็นกว้างเกินไปคล้ายอันแรก แต่ไม่มีการตั้งประเด็นที่ชัดเจน เช่นฉันอยากจะทำสกู๊ปปราสาทหินพิมาย...แต่ไม่ได้เจาะจงว่าจะทำในแง่ไหน แง่ท่องเที่ยว แง่ประวัติศาสตร์ แง่ศิลปวัฒนธรรม หรือแง่มุมการเปรียบเทียบ
เน้นข้อมูล
-                   ข้อเสียของการเน้นข้อมูลมากเกินไป คือ ไม่มีภาพประกอบ ทำให้บทบรรยายไร้ความกลมกลืน ถ้าเป็นสกู๊ปหนังสือพิมพ์ ไม่มีปัญหา เพราะคนจะเสพจากตัวหนังสือเป็นหลัก แต่สำหรับทีวีแล้ว หากข้อมูลไปทาง ภาพไปทาง เสียงไปทาง ความหายนะก็จะมาเยือนทันที เรื่องนี้จะอธิบายให้เห็นชัด ด้วยการรายงานข่าวฟุตบอลคู่บิ๊กแมท แมนยู – เชลซี


จูนไม่ครบ      
-                   อาการนี้ เกิดจากการมีวัตถุดิบจำนวนมากมากองไว้ตรงหน้า แต่ไม่สามารถเอามาเชื่อมโยงกันเป็นเรื่องเป็นราวได้หมด เช่นมีเสียงสัมภาษณ์มา 5 คน มีภาพประกอบอยู่ 4 ชุด มีไฮไลท์อยู่ 3 จุด และมีรายละเอียดของข้อมูลอยู่ 3 หน้า เขียนไป เขียนมา ออกทะเลไปเลย ทำให้เกิดปัญหาต่อมาคือ
จบไม่ลง         
-                   คือการจะขมวดเรื่องราวทั้งหมด มาให้เป็นบทจบที่สวยงามไม่ได้
วิธีแก้ปัญหาเหล่านี้คือ
-                   การเขียนร่างของบทรายงาน ซึ่งคล้ายศิลปินเขียนร่างผลงานด้วยดินสอ เพื่อให้ได้โครงสร้างที่พอใจ ก่อนที่จะลงเส้นและลวดลายจริง โดยการเขียนร่าง ต้องทำตั้งแต่ก่อนลงไปถ่ายทำ ซึ่งควรเขียนไว้คร่าวๆ เน้นประเด็นหลักไว้ อันไหนไม่ใช่ ให้ตัดทิ้ง เพื่อไม่ให้หลงประเด็น เมื่อถ่ายทำเสร็จแล้ว ก็ให้มาร่างรูปแบบโครงสร้าง
-                   ต้องอย่าลืมว่า สกู๊ปทีวีนั้น มีเวลาให้ออกอากาศอย่างมาก 3 นาทีเท่านั้น หรือคิดเป็น 180 วินาที ดังนั้นอะไรที่ไม่จำเป็น อย่าใส่เข้ามา
-                   สมมติ รายงานทหารบุกยึดทรัพย์นายทุนรุกที่ ก่อนอื่นต้องนำข้อมูลที่มีมาวางไว้ก่อน ได้แก่
o  เปิดหน้า
o  เสียงทหาร
o  เสียงนายทุน
o  เสียง ปปง.
-                   ใส่รายละเอียด
o  เปิดหน้า... ปล่อยเสียงพิธีกร
o  ความเป็นมา...ปล่อยเสียงทหาร
o  นายทุนให้การ...ปล่อยเสียงนายทุน
o  ปปง. ชี้แจง..ปล่อยเสียง ปปง.
o  สรุปจบ

---------------------------
บทความโดย...จันทร์หอม กุลเกษ


วันเสาร์ที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

โคราช..ประหลาดนัก..แต่รักเลยอ่ะ

มันอาจจะไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกนัก หากจังหวัดหนึ่งจะมีชื่อเล่น


เช่น “กาญ” กาญจนบุรี // “ชล” ชลบุรี // “จัน” จันทบุรี // “อุดร” อุดรธานี // “นนท์” นนทบุรี แต่ไหงนครราชสีมา จึงมีชื่อเล่นว่า “โคราช” ล่ะ..? มันไม่มีเค้าของชื่อจริงเลยแม้แต่น้อย
บรรยากาศที่ลานอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี (ลานย่าโม) ยามค่ำคืน

นับแต่ผมมาอยู่โคราชได้หลายปี ได้ยิน ได้เห็นอะไรที่ไม่เหมือนใครของโคราชหลายอย่าง ซึ่งถือว่าเป็นเสน่ห์ของจังหวัดนี้ โคราช มีอาณาเขตใหญ่สุดของประเทศ มีอำเภอมากสุด 32 อำเภอ โดยวัดระยะทางจากฝากหนึ่ง อ.ปากช่อง ถึงอีกฝากหนึ่ง อ.ประทาย ห่างกันกว่า 200 กิโลเมตร ถ้าจะขับรถผ่านจังหวัดนี้ได้ ต้องใช้เวลากว่า 3 ชั่วโมง
ภูมิประเทศที่หลากหลายของ จ.นครราชสีมา

นั่นเป็นเรื่องทางภูมิศาสตร์ ส่วนด้านประวัติศาสตร์ ทุกคนย่อมรู้จัก “คุณย่าโม” เป็นอย่างดี เพราะท่านเป็นวีระสตรีที่กอบกู้เมืองโคราชจนกลายเป็นปึกแผ่นถึงทุกวันนี้ ดังนั้นหากใครมาโคราช ยังไม่ได้มากราบอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี หรือคุณย่าโม ถือว่ายังมาไม่ถึงโคราช แต่รู้ไหมครับ อนุสาวรีย์ของท่านนั้น มีอยู่ทุกอำเภอเลย เพราะความห่างไกลของแต่ละอำเภอ จึงทำให้ลูกหลานย่าโมไม่สะดวกที่จะเดินทางมาไหว้ที่เมืองแห่งเดียว จึงต้องสร้างไว้ที่อำเภอของตัวเองซะเลย
อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี (ลานย่าโม) ที่ไม่เคยไร้ควันธูป

โคราช อาจจะเป็นเมืองหน้าด่านของภาคอีสาน แต่อย่าหวังว่าจะได้ยินเขาพูดภาษาอีสานเป็นหลักนะครับ เพราะที่นี่เขามีภาษาโคราชเป็นของตนเอง ภาษาโคราช ไม่ใช่ภาษาไทยที่ออกเสียงเหน่อๆ เหมือนภาษาสุพรรณ หรือภาษาราชบุรี แต่เป็นภาษาเฉพาะของคนโคราช ที่มีหลายคำแตกต่างจากภาษาไทยโดยสิ้นเชิง เช่นคำว่า โกรกกราก = รีบเร่ง, ด๊ะดาด = มากมาย นอกจากนี้ยังมีคำที่คล้ายภาษาไทย เช่น “ไอ้นาย” ที่คนมีอายุมากกว่าใช้เรียกผู้ชาย แทนคำว่า คุณ หรือน้องชาย เหมือนกับภาษาอีสาน ที่เรียกว่า บักหำ นั่นแหละครับ ผมเคยถูกเขาหาว่าเป็นคนหยิ่ง เพราะคำว่าไอ้นายมาแล้ว โถ..จะไม่ให้งงได้ไงละครับ ก็ผมไม่ได้ชื่อนาย เรียกให้ตายก็ไม่ขานรับหรอกครับ
ถนนรอบลานย่าโม เต็มไปด้วยร้านทอง

แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้ผมแปลกใจเท่ากับคำว่า “นม” หรอกนะครับ เพราะถ้าคุณมาโคราช สังเกตดีๆ จะเห็นคำว่านมอยู่ตามป้ายหน่วยงานต่างๆ หรือตามเอกสารต่างๆ ทั่วไปหมด อย่าเพิ่งคิดว่าเขาทะลึ่งนะครับ เพราะตอนแรกผมก็เคยคิดมาแล้ว 5555 แต่แท้จริงแล้วมันเป็นตัวย่อของชื่อจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเป็นความบังเอิญจริงๆ ครับ เพราะเมืองโคราชนี้เป็นเมืองหญิงกล้า แล้วดันมีชื่อย่อว่า “นม” อีก แปลกไหมล่ะครับ
ตัวอย่าง ชื่อย่อหน่วยงานในโคราช