วันอาทิตย์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

การเขียนสกู๊ปพิเศษ (ทีวี) ตอน 3

ปั้นสกู๊ปพิเศษให้ดังเปรี้ยง
1.สร้างแบรนด์ (Brand)
2.สร้างความจดจำ (Remember)
3.สร้างความเชี่ยวชาญ (Professional)

1.สร้างแบรนด์ (Brand)
            สินค้าที่มีแบรนด์ หรือยี่ฮ้อ ย่อมมีราคาดีกว่าสินค้าโนเนม สกู๊ปพิเศษก็เหมือนกัน แต่แบรนด์ของสกู๊ปพิเศษคือเอกลักษณ์ที่เราสร้างขึ้นมา จากคาแรคเตอร์ คำพูด การแสดงออก และการนำเสนอ ที่มีความเฉพาะตัว กลายเป็นโลโก้ที่ใครดูก็รู้ว่าเรา อย่าไปกลัวว่าจะเชย เพราะแม้แต่สตีฟ จ๊อบ ยังนำผลแอ๊ปเปิ้ลแหว่งๆ มาเป็นแบรนด์เทคโนโลยีสุดล้ำได้เลย หากเรามั่นใจว่าเจ๋งแล้ว จงทำต่อไปเรื่อยๆ จนคนติดตาเอง (ยกตัวอย่างทีวี 360 องศา)

2.สร้างความจดจำ (Remember)
            เปิดหน้า ต้องให้สะดุดตา สะดุดใจผู้ชม ชวนติดตาม ไม่จำเป็นต้องสมบูรณ์แบบ อาจไม่ใช่การเปิดหน้าที่ดี แต่ได้อารมณ์คนดู ก็ถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว หลังจากนั้นปิดท้าย ควรเรียกความสนใจ เพื่อให้ผู้ประกาศแซวเราให้ได้ เพื่อตอกย้ำให้คนจดจำเราได้มากยิ่งขึ้น

3.สร้างความเชี่ยวชาญ (Professional)
            การได้ทำสกู๊ปในสิ่งที่เรารัก เราชอบอย่างสม่ำเสมอ จะทำให้เรามีความเชี่ยวชาญ มีความเป็นมืออาชีพมากขึ้น สามารถถ่ายทอดเรื่องราวให้ผู้ชมได้อย่างเข้าใจง่าย และยังสามารถนำไปต่อยอดอาชีพนี้ได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น การทำรายการโทรทัศน์เฉพาะทาง การเขียนสกู๊ปลงหนังสือพิมพ์ นิตยสาร หรือการรวมเล่มเป็นหนังสือพ็อกเก็ตบุ๊คขายก็ยังได้ อย่าลืมว่า “รู้อะไร รู้ให้ยิ่งเพียงสิ่งเดียว แต่จงเชี่ยวชาญไว้เถิดจะเกิดผล” (ยกตัวอย่าง รายการไอทีช่อง3)

เข้าใจกระบวนการผลิตไว้บ้างก็ดี
            ท้ายที่สุดของการทำสกู๊ปข่าวแล้ว ก็คือกระบวนการผลิต ที่ผู้สื่อข่าวหรือผู้ดำเนินรายการข่าว ต้องมีความรู้ความเข้าใจไว้บ้างพอสมควร เพื่อให้การเขียนบท การอ่านบท การลงเสียง การเปิดหน้าและปิดหน้า มีความน่าสนใจมากขึ้น เพราะแต่ละกระบวนการจะมีเทคนิคที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับการทำสกู๊ปได้ทั้งนั้น แต่สำหรับนักศึกษาใหม่จะขอแนะนำสิ่งที่ควรรู้ไว้ 2 เรื่องดังนี้
            กระบวนการถ่ายภาพ
            ในอดีต การถ่ายภาพสกู๊ป จะอาศัยเพียงกล้องถ่ายวิดีโออย่างเดียว ทำให้การนำเสนอสกู๊ปเป็นแบบเรียบง่าย แต่ปัจจุบันมีเทคโนโลยีของกล้องถ่ายภาพมากมาย ที่สามารถทำให้การถ่ายภาพได้มุมมองใหม่ๆ ที่น่าสนใจมากยิ่งขึ้น เช่น กล้อง GOPRO สำหรับถ่ายภาพกีฬาแนวแอ๊กซ์ตรีม

และ DRONE สำหรับถ่ายภาพมุมสูง

            กระบวนการตัดต่อวีดีโอ
            ปัจจุบันมีโปรแกรมตัดต่อวีดีโอมากมาย เช่น Adobe Premiere, Edius, Sony vegas ฯลฯ ซึ่งทำหน้าที่ซ้อน CG และสามารถใส่เอฟเฟคต่างๆ ช่วยเพิ่มสีสันให้กับผลงานสกู๊ปของเราได้มาก


เพิ่มเติมสำหรับผู้ที่ต้องการรายงานสด
            ปัจจุบันการรายงานสด นอกจากรายงานผ่านรถส่งสัญญาณดาวเทียม หรือรถ OB แล้ว เรายังสามารถทำได้หลายวิธี โดยการผสมผสานเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาช่วย เช่นการรายงานสดผ่านโทรศัพท์มือถือ ซึ่งมีโปรแกรมที่ใช้ได้มากมาย แต่ที่นิยมคือโปรแกรม Line และ Skype ซึ่งเราควรศึกษาวิธีการเชื่อมต่อโปรแกรมเหล่านี้กับสตูดิโอไว้ ในยามจำเป็นต้องรายงานสถานการณ์สดๆ แต่ยังมีเทคโนโลยีอีกมากมายที่ใช้ได้ ยกตัวอย่างสำนักข่าว CNN ใช้เทคโนโลยี Hologram สุดล้ำรายงานสดได้แล้ว



---------------
บทความโดย...จันทร์หอม กุลเกษ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น